เครื่องดนตรีประกอบมวยไทย

เครื่องดนตรีประกอบมวยไทย
เครื่องดนตรีประกอบมวยไทย


           องค์ประกอบที่สำคัญและเป็นส่วนสร้างบรรยากาศให้แก่การไหว้ครูและร่ายรำมวยไทยรวมทั้งการแข่งขันชกมวยนั้น คือวงดนตรีปี่กลองซึ่งมีจังหวะและท่วงทำนองช้าและเร็วตามช่วงเวลาของการแข่งขัน เมื่อเริ่มไหว้ครูท่วงทำนองก็จะช้าเนิบนาบช่วยให้ลีลาในการร่ายรำไหว้ครูดูอ่อนช้องดงามเป็นจังหวะน่าชม และเมื่อเริ่มการแข่งขันเสียงดนตรีก็เริ่มมีจังหวะเร็วขึ้นบอกให้ผู้ได้ยินได้ชมรู้ว่าขณะนั้นนักมวยกำลังใช้ชั้นเชิงต่อสู้กันอยู่ในสังเวียน และเมื่อถึงยกสุดท้ายจังหวะดนตรียิ่งเร่งเร้าขึ้น เร้าใจให้นักมวยได้เร่งพิชิตคู่ต่อสู้และเร้าใจผู้ชมมวยรอบสนามให้ตื่นเต้นกับผลการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า จังหวะดนตรีจึงเป็นส่วนสร้างความรู้สึกของนักชกและผู้ชมรอบสนามให้สนุกสนานตื่นเต้นกับการแข่งขันได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

"การไหว้ครูและร่ายรำมวยไทย
การไหว้ครูและร่ายรำมวยไทย

 

เครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงประกอบการแข่งขันชกมวยไทยมีชื่อเรียกว่า “วงปี่กลอง” มีนักดนตรีร่วมบรรเลงดนตรีโดยทั่วไปจำนวน 4 คนเครื่องดนตรีประกอบด้วยปี่ชวา 1 เลา กลองแขก 2 ใบ และฉิ่ง 1 คู่

 

ปี่ชวา


 

"ปี่ชวา
ปี่ชวา

 


               ทำเป็น 2 ท่อนเหมือนปี่ไฉนคือ ท่อนเลาปี่ยาวราว 27 ซม. ท่อนลำโพงยาวราว 14 ซม. เจาะรูนิ้ว รูปร่างลักษณะเหมือนปี่ไฉนทุกอย่างแต่มีขนาดยาวกว่าปี่ไฉน กล่าวคือปี่ชวาเมื่สวมท่อนลำโพงและเลาปี่เข้าด้วยกันแล้ว ยาวประมาณ 38–39 ซม. ตรงปากลำโพงกว้างขนาดเดียวกับปี่ไฉน ทำด้วยไม้จริงหรืองา ส่วนที่ทำต่างจากปี่ไฉนก็คือตอนบนที่ใส่ลิ้นปี่ทำให้บานออกเล็กน้อย ลักษณะของลิ้นปี่เหมือนกับลิ้นปี่ไฉน ต่างแต่มีขนาดยาวกว่าเล็กน้อย แม้เราจะไม่รู้ที่มาของปี่ชวาแต่ชื่อของปี่ชนิดนี้บอกตำนานอยู่ในตัว และโดยเหตุที่มีลักษณะรูปร่างเหมือนปี่ไฉนของอินเดีย จึงเข้าใจว่าชวาคงได้แบบอย่างมาจากปี่ไฉนของอินเดีย เป็นแต่ดัดแปลงให้ยาวกว่า เสียงที่เป่าออกมาจึงแตกต่างไปจากปี่ไฉน เรานำปี่ชวามาใช้แต่เมื่อไรไม่อาจทราบได้แต่คงจะนำเข้ามาใช้คราวเดียวกับกลองแขก และเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนั้น ปรากฏว่าเรามี ปี่ชวาใช้ในกระบวนพยุหยาตราเสด็จพระราชดำเนินแล้ว เช่น มีกล่าวถึงใน “ลิลิตยวนพ่าย” ว่า


“สรวญศรัพทพฤโฆษฆ้อง    กลองไชย
ทุมพ่างแตรสังข์ ชวา    ปี่ห้อ”


ซึ่งคงจะหมายถึง ปี่ชวาและปี่ห้อหรือปี่อ้อ ปี่ชวาใช้คู่กับกลองแขก (ชวา) เช่น เป่าประกอบการเล่นกระบี่กระบอง และประกอบการแสดงละครเรื่องอิเหนา ตอนรำกริช และใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์กับใช้ในวงดนตรีที่เรียกว่าวงปี่ชวากลองแขก หรือวงกลองแขกปี่ชวา วงเครื่องสายปี่ชวา และวงบัวลอย ทั้งนำไปใช้เป่าในกระบวนแห่ ซึ่ง “จ่าปี่” เป่านำ กลองชนะในกระบวนพยุหยาตราด้วย

 

กลองแขก


 

กลองแขก
กลองแขก

 


               รูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าหนึ่งใหญ่ เรียกว่า “หน้ารุ่ย” กว้างประมาณ 20 ซม. อีกหน้าหนึ่งเล็กเรียกว่าหน้าด่าน” กว้างประมาณ 17 ซม. หุ่นกลองยาวประมาณ 57 ซม. ทำด้วยไม้จริงหรือไม้แก่น เช่น ไม้ชิงชันหรือไม้มะริด ขึ้นหนัง 2 หน้าด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ ใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยงเร่งเสียง โยงเส้นห่างๆ แต่ต่อมาในระยะหลังนี้คงจะเนื่องจากหาหวายใช้ไม่สะดวก บางคราวจึงใช้สายหนังโยงก็มี สำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูง เรียกว่า “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก กลองแบบนี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองชวา” เพราะเข้าใจว่าเราได้แบบอย่างมาจากชวา ในวงปี่พาทย์ของชวาก็มีกลอง 2 ชนิดคล้ายกันนี้ แต่รูปกลองตอนกลางป่องโตมากกว่าของไทย เราคงจะนำกลองชนิดนี้มาใช้ในวงดนตรีของไทยมาแต่โบราณในกฎหมายศักดินามีกล่าวถึง “หมื่นราชาราช” พนักงานกลองแขก นา 200 และมีลูกน้อง เรียกว่า “ชาวกลองเลวนา 50” บางทีแต่เดิมคงจะนำเข้ามาใช้ในขบวนแห่นำเสด็จพระราชดำเนิน เช่นกระบวนช้างและกระบวนเรือและใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชวาประกอบการเล่นกระบี่กระบอง เป็นต้น ภายหลังจึงนำมาใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ของไทย เมื่อครั้งนำละครอิเหนาของชวามาเล่นเป็นละครไทยในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น ใช้ในเมื่อละครรำเพลงกริช เป็นต้นต่อมานำมาใช้ตีกำกับจังหวะแทนตะโพนในวงปี่พาทย์ และใช้แทนโทนกับรำมะนา ในวงเครื่องสายด้วย

 

ฉิ่ง


 

ฉิ่ง
ฉิ่ง

 

               เป็นเครื่องตีทำด้วยโลหะ หล่อหนา เว้ากลางปากผายกลม รูปคล้ายถ้วยชาไม่มีก้น สำรับหนึ่งมี 2 ฝา แต่ละฝาวัดผ่านศูนย์กลางจากสุดขอบข้างหนึ่งไปสุดขอบอีกข้างหนึ่งประมาณ 6 ซม. ถึง 6.5 ซม. เจาะรูตรงกลางเว้าสำหรับร้อยเชือก เพื่อสะดวกในการถือตีกระทบกันให้เกิดเสียงเป็นจังหวะ ฉิ่งที่กล่าวนี้สำหรับใช้ประกอบวงปี่พาทย์ ส่วนฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรี มีขนาดเล็กกว่านั้นคือ วัดผ่านศูนย์กลางเพียง 5.5 ซม.ที่เรียกว่า “ฉิ่ง” ก็คงจะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นจากการเอาขอบของฝาหนึ่งกระทบเข้ากับอีกฝาหนึ่งแล้วยกขึ้น จะได้ยินเสียงกังวานยาวคล้าย “ฉิ่ง” แต่ถ้าเอา 2 ฝานั้นกลับกระทบประกบกันไว้ จะได้ยินเสียงสั้นคล้าย“ฉับ” เครื่องตีชนิดนี้ สำหรับใช้ในวงดนตรีประกอบการขับร้องฟ้อนรำ และการแสดงนาฏกรรม โขน ละคร

 

อ้างอิงจาก : กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ศึกษาเพิ่มเติม : ประวัติมวยไทย




- หรือ -



คำศัพท์กีฬา

Youtube: @siamsporttalk
สนามทุ่งทะเลหลวง
14 มิ.ย. 60
เข้าชม 717,967 ครั้ง
สนามกีฬาราชนาวี สัตหีบ  
14 มิ.ย. 60
เข้าชม 818,062 ครั้ง
สนามกีฬากลางจังหวัดราชบุรี
14 มิ.ย. 60
เข้าชม 835,173 ครั้ง
สนามกีฬาสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสมุทรสาคร
13 มิ.ย. 60
เข้าชม 973,073 ครั้ง
PAT Stadium (แพท สเตเดี้ยม)
13 มิ.ย. 60
เข้าชม 914,841 ครั้ง
Chonburi Stadium (ชลบุรี สเตเดี้ยม)
13 มิ.ย. 60
เข้าชม 1,015,035 ครั้ง
สนามลีโอ สเตเดียม
13 มิ.ย. 60
เข้าชม 593,147 ครั้ง
สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
13 มิ.ย. 60
เข้าชม 657,286 ครั้ง

ข่าวประชาสัมพันธ์สนาม