สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 

      สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2147) พระองค์ทรงเลือกคนหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับพระองค์มาทรงฝึกหัดด้วยพระองค์เอง โดยฝึกให้มีความกล้าหาญมีความเชื่อมั่นตนเอง ใช้อาวุธได้ทุกชนิดอย่างชำนาญ มีความสามารถในศิลปะการต่อสู้
มวยไทยดีเยี่ยม และพระองค์ทรงตั้ง “กองเสือป่าแมวมอง” เป็นหน่วยรบแบบกองโจร ซึ่งทหารกองนี้เองมีบทบาทมากในการกอบกู้เอกราชจากพม่าในปี พ.ศ. 2127

      สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2147-2233) ยุคนี้บ้านเมืองสงบร่มเย็นและเจริญรุ่งเรืองพระองค์จึงทรงให้การสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬาอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งมวยไทยซึ่งนิยมกันจนกลายเป็นอาชีพ และมีค่ายมวยต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายมวยไทยสมัยนี้ชกกันบนลานดิน โดยใช้เชือกเส้นเดียวกั้นบริเวณเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส นักมวยจะใช้ด้ายดิบชุบแป้งหรือน้ำมันดินจนแข็งพันมือ เรียกว่า “มวยคาดเชือก” นิยมสวมมงคลไว้ที่ศีรษะ และผูกประเจียดไว้ที่ต้นแขนตลอดการแข่งขัน การเปรียบคู่ชกยึดเอาความสมัครใจ ของทั้งสองฝ่าย ไม่คำนึงถึงขนาดรูปร่างหรืออายุโดยมีกติกาง่ายๆ ว่าชกจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้ ทั้งนี้ในงานเทศกาลต่างๆ จะต้องมีการแข่งขันมวยไทยด้วยเสมอ
ถือได้ว่าการแข่งขันมวยไทยเป็นมหรสพที่สำคัญ มหรสพหนึ่งในงานเทศกาลเลยก็ว่าได้

      สำนักดาบพุทไธสวรรค์ถือเป็นสำนักดาบที่มีชื่อเสียงยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในการฝึกจะใช้อาวุธจำลองคือดาบหวาย ที่เรียกว่า “กระบี่ระบอง” พร้อมทั้งฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าที่เรียกว่า มวยไทย ควบคู่กันไปด้วยในสมัยนี้วัดก็ยังคงเป็นสถานที่สำคัญซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาการต่อสู้ต่างๆ นานาให้กับบรรดาชายไทยทั้งวิชาสามัญและวิชาปฏิบัติในเชิงอาวุธ ควบคู่กันไปกับมวยไทย

      วืธีการชกมวยไทยนี้ยังมีปรากฏในจดหมายเหตุของเทเลอร์แรนดัล ซึ่งกล่าวไว้ว่าสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2240-2252) ทรงมีฝีมือการชกมวยไทยชำนาญมาก เคยใช้ศิลปะมวยไทยไล่ชกเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ซึ่งเป็นฝรั่ง (ชาวต่างชาติ) ที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดปรานมาก โดยใช้วิธีการเตะต่อยแล้วลงเข่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ได้รับบาดเจ็บบอบซ้ำเป็นอันมาก

      สมเด็จพระเจ้าเสือเมื่อครั้งยังไม่ได้ขึ้นครองราชสมบัติ เคยมีเรื่องชกต่อยกับฝรั่งอยู่เสมอเพราะกลัวว่าฝรั่งจะมีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง อันเนื่องมาจากที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดฝรั่งมาก

 

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

      ขุนหลวงสรศักดิ์เกรงว่าบ้านเมืองจะตกอยู่ในอำนาจของฝรั่ง เพราะว่าฝรั่งได้เข้ามากรุงศรีอยุธยามาก และมีฝรั่งหลายคนที่สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานยศเป็นถึงเจ้าพระยา ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอำนาจวาสนา เกรงว่าจะคิดการณ์ไกลเป็นกบฏต่อพระราชบัลลังก์ จึงไม่ไว้วางใจฝรั่งต่างชาติเหล่านี้ มีครั้งหนึ่งที่ขุนหลวงสรศักดิ์ได้มีเรื่องชกต่อยกับฝรั่งในบริเวณพระราชวังสมเด็จพระนารายณ์ จนฝรั่งได้รับบาดเจ็บแล้วขุนหลวงสรศักดิ์ก็หลบหนีไป

      สมเด็จพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสรศักดิ์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการกล่าวถึงกันมากในเรื่องของความสามารถเกี่ยวกับมวยไทย ความเสียสละและความกตัญญูรู้คุณ ได้ฝึกหัดมวยไทยจนมีความชำนาญดังที่ ประยูร พิศนาคะ (2514)กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าเสือในสมัยที่ยังทรงพระเยาว์ ได้ฝึกฝนวิชามวยไทยในพระราชสำนักและได้เร่ร่อนไปฝึกมวยไทยตามสำนักมวยต่างๆ อีกหลายสำนักจนมีฝีมือดีเยี่ยม แม้พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังทรงพอพระทัยในการทอดพระเนตรการชกมวยไทย และพระองค์ทรงฝึกซ้อมมวยไทยอยู่เป็นประจำมิได้ขาด

      นอกจากนี้พระองค์ยังทรงส่งเสริมกีฬามวยไทย โดยทรงเป็นนักมวยเองและ “ทรงชอบปลอมพระองค์ไปท้าชกมวยในสถานที่ต่างๆ สร้างความปีติยินดีให้กับราษฎรที่ได้ชื่นชมพระบารมีและที่ได้ทราบข่าว เพราะประชาชนชาวไทยตามหัวเมืองต่างๆ ก็นิยมชกมวยไทยและส่งเสริมการชกมวยไทย” ด้วยเห็นคุณค่าของการฝึกซ้อมมวยไทย ซึ่งเป็นศิลปะป้องกันตัว เป็นการบริหารร่างกายให้สง่างามสมเป็นลูกผู้ชาย เป็นการฝึกความแข็งแรงทรหดอดทน มีน้ำใจนักกีฬา สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองในวงสังคม ที่สำคัญที่สุดคือ ถ้ามีชั้นเชิงมวยไทยดีเยี่ยมเป็นที่ชื่นชอบของ เจ้านายชั้นสูงแล้ว ก็จะได้รับการคัดเลือกให้ไปอยู่ในพระราชวัง ทำหน้าที่เป็นผู้สอนมวยไทยให้ขุนนาง ทหาร และพระราชโอรส หรือเป็นราชองครักษ์

      จะเห็นได้ว่าการชกต่อยและการชกมวยแทบจะมีลักษณะที่คล้ายกัน เพียงแต่การชกมวยนั้นจัดเป็นการละเล่นประเภทหนึ่งที่นำเอาศิลปะการป้องกันตัวมาใช้ส่วนการชกต่อยกันอาจเข้าข่ายของการวิวาทเป็นความกัน

 

สมเด็จพระเจ้าเสือ
สมเด็จพระเจ้าเสือ

      สมัยอยุธยาพระเจ้าแผ่นดินมีกองกำลังทหารกองหนึ่งสำหรับทำหน้าที่ถวายการอารักขาเรียกว่า “กองทนายเลือก” ผู้เข้ารับราชการในกองนี้ได้รับคัดเลือกมาจากนักมวยฝีมือดี เป็นชายฉกรรจ์ที่มีรูปร่างล่ำสันแข็งแรง นอกจากนั้นบรรดาเจ้านายชั้นสูงก็มีทนายเลือกไว้ประจำตัวเช่นเดียวกัน ทนายเลือกมีบทบาทสำคัญและอยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาทพระเจ้าแผ่นดิน ดังเช่นระหว่างที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงประชวรใกล้เสด็จสวรรคต มีข่าวว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ซึ่งเป็นฝรั่งจะคิดการกบฏ ขุนหลวงสรศักดิ์ได้ใช้ทนายเลือกไปลวงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เข้ามาในพระราชวังโดยโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่ง แล้วให้ทนายเลือกคอยทีอยู่สองข้างทางพอเจ้าพระยาวิชาเยนทร์นั่งเสลียงคนหามเข้ามา ทนายเลือกก็จัดการด้วยไม้พลอยแล้วฆ่าเสีย จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของทนายเลือกมีความสำคัญต่อพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของพระราชบัลลังก์มากทนายเลือกทำงานใกล้ชิดพระมหากษัตริย์มากที่สุด บางครั้งก็เป็นทหารรักษาพระองค์บางครั้งก็ตรวจตราอยู่เวรยาม ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างออกไปตามหน้าที่นั้น ถ้าอยู่เวรยามเรียกกองตระเวน ดังนั้นนอกจากจะคัดเลือกเอาผู้มีฝีมือมวยไทยอย่างดีเยี่ยม แข็งแรง ล่ำสัน ทรหด อดทน มีไหวพริบ สติปัญญาดีแล้ว จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจด้วย

 

กองทนาย
กองทนาย

 

      กองทนายเลือกสมัยอยุธยาทำหน้าที่หลายอย่าง บางครั้งก็เรียกตำรวจหลวงทนายตำรวจหรือกรมนักมวย ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในพระราชวังดังที่ส.พลายน้อย กล่าวไว้ในเกร็ดโบราณคดีว่า “กรมนักมวย หรือทนายเลือกเป็นกรมกรมหนึ่งสำหรับกำกับนักมวย” ทนายเลือกหรือพวกนักมวยที่จัดขึ้นเป็นรักษาพระองค์นั้นเห็นจะมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้มีกรมมวยหลวงขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยให้คัดเลือกเอาชายฉกรรจ์ที่มีฝีมือการชกมวยไทยเข้ามาต่อสู้กันหน้าพระที่นั่งแล้วคัดเลือกเอาผู้ที่มีฝีมือดีเลิศไว้เป็นผู้อารักขาเป็นทหารสนิทและทหาร รักษาพระองค์ มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยเวลาเสด็จประทับในพระราชวัง หรือเสด็จในงานต่างๆ

 

อ้างอิงจาก : กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ศึกษาเพิ่มเติม : ประวัติมวยไทย




- หรือ -



คำศัพท์กีฬา

Youtube: @siamsporttalk
สนามทุ่งทะเลหลวง
14 มิ.ย. 60
เข้าชม 712,425 ครั้ง
สนามกีฬาราชนาวี สัตหีบ  
14 มิ.ย. 60
เข้าชม 808,123 ครั้ง
สนามกีฬากลางจังหวัดราชบุรี
14 มิ.ย. 60
เข้าชม 824,958 ครั้ง
สนามกีฬาสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสมุทรสาคร
13 มิ.ย. 60
เข้าชม 958,663 ครั้ง
PAT Stadium (แพท สเตเดี้ยม)
13 มิ.ย. 60
เข้าชม 904,996 ครั้ง
Chonburi Stadium (ชลบุรี สเตเดี้ยม)
13 มิ.ย. 60
เข้าชม 1,004,552 ครั้ง
สนามลีโอ สเตเดียม
13 มิ.ย. 60
เข้าชม 588,897 ครั้ง
สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
13 มิ.ย. 60
เข้าชม 649,521 ครั้ง

ข่าวประชาสัมพันธ์สนาม