พิมพ์

 

สุโขไทย
สุโขไทย

 

สมัยอาณาจักรสุโขทัย

    จากการสืบค้นข้อมูลมวยสมัยกรุงสุโขทัยเริ่มประมาณ พ.ศ. 1781-1951 รวมระยะเวลา 140 ปี หลักฐานจากศิลจารึกกล่าวไว้ชัดเจนว่า กรุงสุโขทัยทำสงครามกับประเทศอื่นรอบด้าน จึงมีการฝึกทหารให้มีความรู้ความชำนาญในรบด้วยอาวุธ ดาบ หอก โล่ รวมไปถึงการใช้อวัยวะของร่างกายเข้าช่วยในการรบระยะประชิดตัวด้วย เช่น ถีบ เตะ เข่า ศอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรบ

 

การทำสงคราม

      าณาจักรสุโขทัยต้องทำสงครามกับอาณาจักรข้างเคียงอยู่เสมอ การทำสงครามที่สำคัญ 3 ครั้ง คือ (1) ศึกขุนสามชน ระหว่าง พ.ศ. 1801-1803 ตรงกับรัชสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (2) ศึกสองกรุง ประมาณ พ.ศ. 1914-1919 ตรงกับรัชสมัยพญาลิไท และ (3) สงครามครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายของอาณาจักรสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. 1919-1920 ตรงกับรัชสมัยพญาไสยลือไท ปลายสมัยกรุงสุโขทัยเป็นช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเริ่มเรืองอำนาจและเข้ามาครอบครอบอาณาจักรสุโขทัย การทำสงครามแย่งชิงอำนาจในสมัยนั้นบางครั้งยืดเยื้อเป็นเวลานานถึง 6 ปี ทำให้สูญเสียไพร่พล ทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่สุดในช่วงเวลามีศึกสงครามคือ ความพยายามรักษาผืนแผ่นดินที่ตนอาศัยอยู่ให้มั่นคงที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการรวบรวมไพร่พลเพื่อเป็นกำลังรบเพื่อกักตุนเสบียงอาหาร มีการฝึกหัดการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าและอาวุธชนิดต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม

 

การฝึกมวย

 

      การรบในสมัยนี้เป็นการรบแบบประจัญบาน หรือที่เรียกว่าตะลุมบอน และรบแบบซุ่มโจมตี ซึ่งเป็นการรบในระยะประชิดตัวทั้งสิ้น การฝึกหัดศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวย จึงเป็นการฝึกที่มีความสำคัญมากสำหรับการรบในระยะประชิด ดังนั้นการที่กรุงสุโขทัยถูกเพื่อนบ้านรุกรานอยู่เสมอทำให้ชาวสุโขทัยต้องฝึกฝนมวย กระบี่กระบอง และอาวุธต่างๆ เพื่อต่อสู้กับผู้รุกรานและพยายามปรับปรุงเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “การรบในสมัยนั้นใช้มีด หอก ดาบ เป็นอาวุธ การต่อสู้จึงมีโอกาสที่จะเข้าประชิดตัว” จึงฝึกหัดการเตะการถีบเอาไว้เพื่อให้คู่ต่อสู้เสียหลักจะได้เลือกฟันเลือกแทงได้ง่ายขึ้นนอกจากนี้เด็กผู้ชายสมัยสุโขทัยเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นมักจะฝึกหัดมวยกันทุกคน เป็นความเชื่อที่ว่า การฝึกมวยเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่จะมีลักษณะชายชาตรี

 

“วิธีฝึกหัดมวยไทยในสมัยกรุงสุโขทัย ครูมวยจะใช้กลอุบายให้ศิษย์ ตักน้ำตำข้าว ผ่าฟืน ว่ายน้ำ ห้อยโหนเถาวัลย์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและอดทน ก่อนจึงเริ่มฝึกทักษะ”

 

วิธีฝึกหัดมวยไทยในสมัยกรุงสุโขทัย

 

      หลังเสร็จสงครามแล้ว ชายหนุ่มในสมัยกรุงสุโขทัยมักจะฝึกมวยไทยกันทุกคนเพื่อเสริมลักษณะชายชาตรีเพื่อศิลปะป้องกันตัว เพื่อเตรียมเข้ารับราชการทหารและถือเป็นประเพณีอันดีงาม ในสมัยนั้นจะฝึกมวยไทยตามสำนักที่มีชื่อเสียง เช่น สำนักสมอคอนแขวงเมืองลพบุรี นอกจากนี้ยังมีการฝึกมวยไทยตามลานวัดโดยพระภิกษุอีกด้วย “วิธีฝึกหัด มวยไทยในสมัยกรุงสุโขทัย ครูมวยจะใช้กลอุบายให้ศิษย์ ตักน้ำ ตำข้าว ผ่าฟืน ว่ายน้ำ ห้อยโหนเถาวัลย์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและอดทนก่อนจึงเริ่มฝึกทักษะ” โดยการผูกผ้าขาวม้าเป็นปมใหญ่ๆ ไว้กับกิ่งไม้ แล้วชกให้ถูกด้วยหมัด เท้า เข่า ศอก นอกจากนี้ยัง มีการฝึกเตะกับต้นกล้วย ชกกับคู่ซ้อม ปล้ำกับคู่ซ้อม จบลงด้วยการว่ายน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายและผ่อนคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน ครูมวยจะอบรมศีลธรรมจรรยา ทบทวนทักษะมวยไทยท่าต่างๆ จากการฝึกในวันนั้นผนวกกับทักษะท่าต่างๆ ที่ฝึกก่อนหน้านี้แล้ว

 

สมรรถภาพร่างกายดีเยี่ยม

      สมัยกรุงสุโขทัยมวยไทยถือว่าเป็นศาสตร์ชั้นสูงถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของกษัตริย์ เพื่อฝึกให้เป็นนักรบที่มีความกล้าหาญ มีสมรรถภาพร่างกายดีเยี่ยม เป็นกษัตริย์ที่เก่งกล้าสามารถในการปกครองประเทศต่อไป ดังความปรากฏตามพงศาวดารว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เห็นว่ากรุงสุโขทัยจะเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ครองความเป็นอิสระได้นานนั้นขึ้นอยู่กับผู้นำซึ่งต้องมีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงในด้านการต่อสู้ป้องกันตัว การทหารและการปกครอง ด้วยเหตุนี้จึงได้ส่งเจ้าชายร่วง ซึ่งแปลว่ารุ่งเรือง โอรสองค์ที่ 2 ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา ให้ไปเล่าเรียนศิลปศาสตร์ที่สำนักสมอคอน แห่งเมืองลพบุรี “สำนักสมอคอนเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น พระมหากษัตริย์และเจ้าเมืองนิยม ส่งโอรสและบุตรหลานของตนมาอบรมศิลปศาสตร์ที่สำนักนี้ตั้งแต่เยาว์วัย” เจ้าชายร่วง 

 

ในปี พ.ศ. 1818-1860

 

เพื่อฝึกให้เป็นกษัตริย์ที่เก่งกล้า

 

      จึงมีสหายร่วมสำนักอาจารย์เดียวกัน 2 พระองค์ เป็นโอรสของเจ้าผู้ครองนครเงินยาง และเจ้าผู้ครองนครพะเยา ทั้ง 3 พระองค์ได้ทรงศึกษาเป็นเวลา 3 ปี เพื่อฝึกให้เป็นกษัตริย์ที่เก่งกล้า จึงสำเร็จแล้วต่างก็แยกกันกลับไปบ้านเมืองของตน ทั้งยังมีสำนักที่ให้ความรู้ทางศิลปศาสตร์มากมาย ซึ่งจัดขึ้นโดยนักปราชญ์ หรือผู้เฒ่าที่มีความรู้และประสบการณ์ ในวิชาการต่างๆ ฝึกสอนให้กับเด็กหนุ่มไทยอีกด้วย “ในปี พ.ศ. 1818-1860 พ่อขุนรามคำแหงได้เขียนตำรับพิชัยสงครามข้อความบางตอนกล่าวถึงมวยไทยด้วย” นอกจากนี้พระเจ้าลิไทเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาจากสำนักราชบัณฑิตในพระราชวังมีความรู้แตกฉานจนได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ซึ่งสำนักราชบัณฑิตไม่ได้สอนวิชาการเพียงอย่างเดียว พระองค์ต้องฝึกภาคปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าแบบมวยไทย และการใช้อาวุธ คือ ดาบ หอก มีด โล่ ธนู เป็นต้น 

 

ลักษณะหรือผู้ที่มีฝีมือทางการต่อสู้

 

      การรบสมัยนี้เป็นการรบแบบประจัญบาน หรือที่เรียกว่าตะลุมบอนและรบแบบซุ่มโจมตี ซึ่งเป็นการรบในระยะประชิดตัวทั้งสิ้น แม้ประวัติศาสตร์จะไม่ได้จารึกไว้ถึงมวยไทย โดยเฉพาะแต่ก็เชื่อได้แน่ว่าการฝึกหัดศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวยไทยเป็นการฝึกซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับการรบในระยะประชิด เด็กผู้ชายสมัยกรุงสุโขทัย ตอนย่างเข้าสู่วัยรุ่น มักจะฝึกหัดมวยไทยกันทุกคน การฝึกมวยไทยเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่จะมีลักษณะหรือผู้ที่มี ฝีมือทางการต่อสู้ซึ่งประกอบด้วย
1. คุณวุฒิ 2. มารยาท 3. มนุษยธรรม 4. วีรกรรม 5. ความทรหดอดทน 6. อำนาจทางคาถาอาคม 7. พลังกาย 8. ศิลปะการต่อสู้มวยไทย และกระบี่กระบอง

 

ศาสตร์ศิลปะ 18 ประการ

 

จุดมุ่งหมายของการฝึกมวยไทยอีกประการหนึ่งคือมวยไทยเป็นส่วนหนึ่งของศิลปศาสตร์ซึ่งเป็นความรู้ด้านต่างๆ สำหรับพระมหากษัตริย์และเจ้าเมืองผู้ครองนครต่างๆในสมัยก่อนพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องเป็นนักรบเป็นนักมวย เป็นนักกีฬา มีความกล้าหาญองอาจ มีสมรรถภาพร่างกายแข็งแรงอดทนอย่างดีเยี่ยม และมีหน้าที่มากมายในฐานะเป็นผู้นำของประเทศ จำเป็นต้องศึกษาศาสตร์ศิลปะต่างๆ ดังเช่นพระมหากษัตริย์ไทย

จักต้องศึกษาศาสตร์ศิลปะ 18 ประการดังนี้

1. สติ = ความรู้ทั่วไป                              2. สมบัติ = กฎธรรมเนียมประเพณี
3. สีเขยา = เลขคำนวณ                          4. โยคะ = เครื่องยนต์ กลไก
5. วิเลศกา = พยากรณ์                           6. คันทัพภา = ดนตรี ร้องเพลง
7. คณิกา = สมรรถภาพทางร่างกาย           8. ธนุเภทา = ความรู้เรื่องยิงธนู
9. ปุราณา = เรื่องโบราณต่างๆ                 10. มิติ = แบบแผนต่างๆ
11. ติกิจฉา = การแพทย์                        12. ติกิจการ = ปรัมปรา
13. โชติศาสตร์ = ดาราศาสตร์                14. มายา = ตำราพิชัยสงคราม มวยไทย กระบี่กระบอง
15. ฉันทศาสตร์ = การประพันธ์                16. เกษ = การพูด
17. มัณตา = การเสกเป่าเวทมนตร์ คาถา    18. ศรัทธา = ไวยากรณ์


      “การฝึกหัดมวยไทยในสมัยกรุงสุโขทัย นอกจากจะฝึกหัดกันตามสำนักต่างๆแล้วยังมีการฝึกหัดมวยไทยตามวัดต่างๆ ด้วย” เนื่องจากวัดเป็นสถานที่ให้ความรู้ฝึกหัดอบรมบ่มนิสัยทุกอย่างทั้งวิชาการและวิชาชีพต่างๆ เพราะประชาชนถือว่าวัดเป็นศูนย์กลางของปวงชน การเรียนการสอน ในวัดนั้นไม่เรียนเฉพาะหนังสืออย่างเดียว แต่เรียนวิชาชีพต่างๆ เช่น วิชาการแพทย์ ศิลปะ การฝีมือ การเรียนหนังสือ การฝึกหัดมารยาทรวมทั้งการฝึกมวยไทย เพราะประชาชนถือว่าวัดเป็นศูนย์กลางของปวงชน จากการศึกษาเรื่องโบราณศึกษาซึ่งเขียนโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา ในหนังสือวชิรญาณพบว่า สมัยกรุงสุโขทัย วัด และรัฐดำเนินการฝึกอบรมสั่งสอนคน สำนักศึกษาเล่าเรียนจึงแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ วัดเป็นสำนักเรียนของคนหลายประเภทมีทั้งบุตรคนธรรมดาสามัญบุตรข้าราชการ และบุตรเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์ การเรียนการสอนในวัดนั้นไม่เรียนเฉพาะหนังสืออย่างเดียว เรียนวิชาชีพต่างๆ เช่น การแพทย์ การฝีมือศิลปะ รวมทั้งการฝึกหัดศิลปะมวยไทย กระบี่กระบองด้วย ส่วนผู้สอนนั้นก็มีทั้งพระภิกษุและชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถ “อีกสถานที่หนึ่งที่สอนให้เฉพาะเจ้านายและบุตรข้าราชการเท่านั้นคือสำนักราชบัณฑิต” ดังปรากฏในพงศาวดารว่า พระเจ้าลิไทยเมื่อยังทรงพระเยาว์เคยศึกษามีความรู้แตกฉาน จนได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ที่สำนักราชบัณฑิต ซึ่งแหล่งการศึกษานี้มิได้สอนแต่เฉพาะวิชาการอย่างเดียว หากแต่จะต้องเรียนภาคปฏิบัติด้วย โดยเฉพาะวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว มีการใช้อาวุธหอก ดาบ กระบี่กระบอง ดาบสองมือ มีด ขวาน ง้าว กริช ธนู หน้าไม้ โล่ โตมร และมวยไทย ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าจากการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยพบว่า การชกมวยถือเป็นการแสดงศิลปะป้องกันตัวเป็นประเพณีที่ดีงามอย่างหนึ่ง ดังที่ กำธร คำประเสริฐ กล่าวไว้ในคำบรรยายวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายตอนหนึ่งว่า “กฎหมายไทยได้มีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ” ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกหลักที่ 1) กฎหมายลักษณะโจรและกฎหมายพระเจ้ามังรายหรือมังรายศาสตร์ สำหรับ 2 ลักษณะแรกนั้นปรากฏมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยจารึกในเสาหินและแผ่นศิลา ส่วนลักษณะที่ 3 มีลักษณะเป็นภาษาไทยญวน จารึกลงในใบลาน ในมังรายศาสตร์ มีเรื่องเกี่ยวกับมวยไทยคือในสาเหตุ วิวาท ด่าตี กำหนดไว้ 16 ประการ มีประการที่ 7 “ต่อยกัน” และประการที่ 15 “เล่นการพนัน” ในสมัยกรุงสุโขทัยถือว่าการชกมวยเวทีชั่วคราวตามงานวัด และงานเฉลิมฉลองต่างๆเป็นลักษณะศิลปะป้องกันตัว เป็นประเพณีอันดีงามไม่ใช่การพนัน จึงไม่มีการเสียภาษี อากรแต่อย่างใด

 

สำนักราชบัณฑิต

       

      นอกจากมวยไทยจะฝึกหัดเพื่อเป็นการออกกำลังกายและเพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำศึกสงครามแล้ว ยังมีการฝึกเพื่อประลองพละกำลังและชั้นเชิงการต่อสู้ในเทศกาลงานถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและงานประเพณีต่างๆ สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่ผู้ชมในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี ดังปรากฏในสมุดจดหมายเหตุซึ่งเดิมเก็บอยู่ ณ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ซึ่งได้มาจากราชเลขาธิการในพระบรมมหาราชวังก่อนเปลี่ยนการปกครอง) และในสมุดไทย ซึ่งเดิมเป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ มีข้อความตรงกันว่า

      เมื่อศักราช 1195 ปีมเสงเบญศก จะเสด็จขึ้นไปประภาสเมืองเหนือ นมัสการเจดียสฐานต่างๆ

 

(กำธร คำประเสริฐ, 2521 :1-27)

 

...ครั้น ณ วันหกค่ำกลับมาลงเรือ เจ็ดค่ำเวลาเที่ยงถึงท่าธานี เดินขึ้นไปเมืองสุโขทัยถึงเวลาเยนอยู่ที่นั้นสองวัน เสด็จไปเที่ยวประภาษ พบแท่นสีลาแห่งหนึ่งอยู่ริมเนินปราสาทก่อไว้เปนแท่นหักพังลงมาตะแคงอยู่ที่เหล่านั้น ชาวเมืองเขาเคารพย์ สำคัญเปนสานเจ้า เขามีมวยสมโพช ทุกปี รับสั่งให้ชลอลงมา ก่อเปนแท่นขึ้นไว้ใต้ต้นมะขามที่วัดสมอรายกับเสาสิลาที่จารึกเปน หนังสือเขมร ที่อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เอามาคราวเดียวกับแท่นสีลา

 

(กรมศิลปากร, 2531: 2)

 

     จากการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยพบว่า การชกมวยถือเป็นการแสดงศิลปะป้องกันตัวเป็นประเพณีที่ดีงามอย่างหนึ่ง
ในสมัยกรุงสุโขทัย ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงลักษณะวิธีใช้มวยไทยในการต่อสู้คงสันนิษฐานได้ว่าศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้นคงมีแบบอย่างมาแต่เดิมและพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ “เนื่องจากที่ตั้งอาณาจักรสุโขทัยของพวกไทยนั้น แต่เดิมมีชนพื้นเมืองเดิมคือพวกขอม ข่า ขมุ เขมร มอญ เม็ง และพวกลาวหรือที่เราเรียกว่า ลัวะ ละว้า อาศัยอยู่” การรบพุ่งเข้าครอบครองพื้นที่ และความผสมกลมกลืนระหว่างชาติพันธ์ุต่างๆ ย่อมจะต้องได้เรียนรู้ประสบการณ์ศิลปะการต่อสู้ของกันและกัน และชนชาติไทยก็เป็นชนชาติที่เจริญรุ่งเรืองมีระบบระเบียบการเมืองการปกครองมานานหลายชั่วอายุคน ย่อมมีการพัฒนาศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ รวมทั้งศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญของการป้องกันประเทศในขณะนั้น

 

อ้างอิงจาก : กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ศึกษาเพิ่มเติม : ประวัติมวยไทย

 




- หรือ -