พิมพ์
สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 

      สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2147) พระองค์ทรงเลือกคนหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับพระองค์มาทรงฝึกหัดด้วยพระองค์เอง โดยฝึกให้มีความกล้าหาญมีความเชื่อมั่นตนเอง ใช้อาวุธได้ทุกชนิดอย่างชำนาญ มีความสามารถในศิลปะการต่อสู้
มวยไทยดีเยี่ยม และพระองค์ทรงตั้ง “กองเสือป่าแมวมอง” เป็นหน่วยรบแบบกองโจร ซึ่งทหารกองนี้เองมีบทบาทมากในการกอบกู้เอกราชจากพม่าในปี พ.ศ. 2127

      สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2147-2233) ยุคนี้บ้านเมืองสงบร่มเย็นและเจริญรุ่งเรืองพระองค์จึงทรงให้การสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬาอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งมวยไทยซึ่งนิยมกันจนกลายเป็นอาชีพ และมีค่ายมวยต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายมวยไทยสมัยนี้ชกกันบนลานดิน โดยใช้เชือกเส้นเดียวกั้นบริเวณเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส นักมวยจะใช้ด้ายดิบชุบแป้งหรือน้ำมันดินจนแข็งพันมือ เรียกว่า “มวยคาดเชือก” นิยมสวมมงคลไว้ที่ศีรษะ และผูกประเจียดไว้ที่ต้นแขนตลอดการแข่งขัน การเปรียบคู่ชกยึดเอาความสมัครใจ ของทั้งสองฝ่าย ไม่คำนึงถึงขนาดรูปร่างหรืออายุโดยมีกติกาง่ายๆ ว่าชกจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้ ทั้งนี้ในงานเทศกาลต่างๆ จะต้องมีการแข่งขันมวยไทยด้วยเสมอ
ถือได้ว่าการแข่งขันมวยไทยเป็นมหรสพที่สำคัญ มหรสพหนึ่งในงานเทศกาลเลยก็ว่าได้

      สำนักดาบพุทไธสวรรค์ถือเป็นสำนักดาบที่มีชื่อเสียงยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในการฝึกจะใช้อาวุธจำลองคือดาบหวาย ที่เรียกว่า “กระบี่ระบอง” พร้อมทั้งฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าที่เรียกว่า มวยไทย ควบคู่กันไปด้วยในสมัยนี้วัดก็ยังคงเป็นสถานที่สำคัญซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาการต่อสู้ต่างๆ นานาให้กับบรรดาชายไทยทั้งวิชาสามัญและวิชาปฏิบัติในเชิงอาวุธ ควบคู่กันไปกับมวยไทย

      วืธีการชกมวยไทยนี้ยังมีปรากฏในจดหมายเหตุของเทเลอร์แรนดัล ซึ่งกล่าวไว้ว่าสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2240-2252) ทรงมีฝีมือการชกมวยไทยชำนาญมาก เคยใช้ศิลปะมวยไทยไล่ชกเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ซึ่งเป็นฝรั่ง (ชาวต่างชาติ) ที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดปรานมาก โดยใช้วิธีการเตะต่อยแล้วลงเข่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ได้รับบาดเจ็บบอบซ้ำเป็นอันมาก

      สมเด็จพระเจ้าเสือเมื่อครั้งยังไม่ได้ขึ้นครองราชสมบัติ เคยมีเรื่องชกต่อยกับฝรั่งอยู่เสมอเพราะกลัวว่าฝรั่งจะมีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง อันเนื่องมาจากที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดฝรั่งมาก

 

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

      ขุนหลวงสรศักดิ์เกรงว่าบ้านเมืองจะตกอยู่ในอำนาจของฝรั่ง เพราะว่าฝรั่งได้เข้ามากรุงศรีอยุธยามาก และมีฝรั่งหลายคนที่สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานยศเป็นถึงเจ้าพระยา ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอำนาจวาสนา เกรงว่าจะคิดการณ์ไกลเป็นกบฏต่อพระราชบัลลังก์ จึงไม่ไว้วางใจฝรั่งต่างชาติเหล่านี้ มีครั้งหนึ่งที่ขุนหลวงสรศักดิ์ได้มีเรื่องชกต่อยกับฝรั่งในบริเวณพระราชวังสมเด็จพระนารายณ์ จนฝรั่งได้รับบาดเจ็บแล้วขุนหลวงสรศักดิ์ก็หลบหนีไป

      สมเด็จพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสรศักดิ์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการกล่าวถึงกันมากในเรื่องของความสามารถเกี่ยวกับมวยไทย ความเสียสละและความกตัญญูรู้คุณ ได้ฝึกหัดมวยไทยจนมีความชำนาญดังที่ ประยูร พิศนาคะ (2514)กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าเสือในสมัยที่ยังทรงพระเยาว์ ได้ฝึกฝนวิชามวยไทยในพระราชสำนักและได้เร่ร่อนไปฝึกมวยไทยตามสำนักมวยต่างๆ อีกหลายสำนักจนมีฝีมือดีเยี่ยม แม้พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังทรงพอพระทัยในการทอดพระเนตรการชกมวยไทย และพระองค์ทรงฝึกซ้อมมวยไทยอยู่เป็นประจำมิได้ขาด

      นอกจากนี้พระองค์ยังทรงส่งเสริมกีฬามวยไทย โดยทรงเป็นนักมวยเองและ “ทรงชอบปลอมพระองค์ไปท้าชกมวยในสถานที่ต่างๆ สร้างความปีติยินดีให้กับราษฎรที่ได้ชื่นชมพระบารมีและที่ได้ทราบข่าว เพราะประชาชนชาวไทยตามหัวเมืองต่างๆ ก็นิยมชกมวยไทยและส่งเสริมการชกมวยไทย” ด้วยเห็นคุณค่าของการฝึกซ้อมมวยไทย ซึ่งเป็นศิลปะป้องกันตัว เป็นการบริหารร่างกายให้สง่างามสมเป็นลูกผู้ชาย เป็นการฝึกความแข็งแรงทรหดอดทน มีน้ำใจนักกีฬา สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองในวงสังคม ที่สำคัญที่สุดคือ ถ้ามีชั้นเชิงมวยไทยดีเยี่ยมเป็นที่ชื่นชอบของ เจ้านายชั้นสูงแล้ว ก็จะได้รับการคัดเลือกให้ไปอยู่ในพระราชวัง ทำหน้าที่เป็นผู้สอนมวยไทยให้ขุนนาง ทหาร และพระราชโอรส หรือเป็นราชองครักษ์

      จะเห็นได้ว่าการชกต่อยและการชกมวยแทบจะมีลักษณะที่คล้ายกัน เพียงแต่การชกมวยนั้นจัดเป็นการละเล่นประเภทหนึ่งที่นำเอาศิลปะการป้องกันตัวมาใช้ส่วนการชกต่อยกันอาจเข้าข่ายของการวิวาทเป็นความกัน

 

สมเด็จพระเจ้าเสือ
สมเด็จพระเจ้าเสือ

      สมัยอยุธยาพระเจ้าแผ่นดินมีกองกำลังทหารกองหนึ่งสำหรับทำหน้าที่ถวายการอารักขาเรียกว่า “กองทนายเลือก” ผู้เข้ารับราชการในกองนี้ได้รับคัดเลือกมาจากนักมวยฝีมือดี เป็นชายฉกรรจ์ที่มีรูปร่างล่ำสันแข็งแรง นอกจากนั้นบรรดาเจ้านายชั้นสูงก็มีทนายเลือกไว้ประจำตัวเช่นเดียวกัน ทนายเลือกมีบทบาทสำคัญและอยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาทพระเจ้าแผ่นดิน ดังเช่นระหว่างที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงประชวรใกล้เสด็จสวรรคต มีข่าวว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ซึ่งเป็นฝรั่งจะคิดการกบฏ ขุนหลวงสรศักดิ์ได้ใช้ทนายเลือกไปลวงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เข้ามาในพระราชวังโดยโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่ง แล้วให้ทนายเลือกคอยทีอยู่สองข้างทางพอเจ้าพระยาวิชาเยนทร์นั่งเสลียงคนหามเข้ามา ทนายเลือกก็จัดการด้วยไม้พลอยแล้วฆ่าเสีย จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของทนายเลือกมีความสำคัญต่อพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของพระราชบัลลังก์มากทนายเลือกทำงานใกล้ชิดพระมหากษัตริย์มากที่สุด บางครั้งก็เป็นทหารรักษาพระองค์บางครั้งก็ตรวจตราอยู่เวรยาม ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างออกไปตามหน้าที่นั้น ถ้าอยู่เวรยามเรียกกองตระเวน ดังนั้นนอกจากจะคัดเลือกเอาผู้มีฝีมือมวยไทยอย่างดีเยี่ยม แข็งแรง ล่ำสัน ทรหด อดทน มีไหวพริบ สติปัญญาดีแล้ว จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจด้วย

 

กองทนาย
กองทนาย

 

      กองทนายเลือกสมัยอยุธยาทำหน้าที่หลายอย่าง บางครั้งก็เรียกตำรวจหลวงทนายตำรวจหรือกรมนักมวย ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในพระราชวังดังที่ส.พลายน้อย กล่าวไว้ในเกร็ดโบราณคดีว่า “กรมนักมวย หรือทนายเลือกเป็นกรมกรมหนึ่งสำหรับกำกับนักมวย” ทนายเลือกหรือพวกนักมวยที่จัดขึ้นเป็นรักษาพระองค์นั้นเห็นจะมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้มีกรมมวยหลวงขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยให้คัดเลือกเอาชายฉกรรจ์ที่มีฝีมือการชกมวยไทยเข้ามาต่อสู้กันหน้าพระที่นั่งแล้วคัดเลือกเอาผู้ที่มีฝีมือดีเลิศไว้เป็นผู้อารักขาเป็นทหารสนิทและทหาร รักษาพระองค์ มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยเวลาเสด็จประทับในพระราชวัง หรือเสด็จในงานต่างๆ

 

อ้างอิงจาก : กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ศึกษาเพิ่มเติม : ประวัติมวยไทย




- หรือ -