พิมพ์

 

แสดงตำแหน่งเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ
แสดงตำแหน่งเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ

 

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือรองช้ำ

 

     เอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือรองช้ำ คือ ภาวะที่มีการอักเสบของเอ็นพังผืดใต้ฝ่าเท้า เอ็นใต้ฝ่าเท้าจะมีลักษณะเป็นแผ่นแบน ๆ ที่เชื่อมระหว่างกระดูกส้นเท้าไปยังกระดูกนิ้วเท้า ทำหน้าที่ช่วยพยุงโค้งของเท้า ถ้าเอ็นฝ่าเท้าถูกยืดหรือเกิดแรงดึงมากเกินไปจะเกิดการบวมหรืออักเสบ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดส้นเท้า หรือส่วนปลายของเท้าขณะยืนหรือเดินได้ ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 - 70 ปี โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และผู้ที่มีน้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็วหรือภาวะอ้วน

 

สาเหตุ
     เกิดมาจากการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้า เนื่องมาจากการบากเจ็บของพังผืดบริเวณจุดเกาะที่กระดูกส้นเท้า โดยการบาดเจ็บนี้มักจะเป็นการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สะสมมานาน มักพบในผู้ที่มีเอ็นร้อยหวายตึง หรือมีปัญหาบริเวณอุ้งเท้า เช่น ภาวะเท้าแบน หรือส่วนโค้งของเท้ามากเกินไป ซึ่งจะพบในนักวิ่งระยะไกลหรือการใส่รองเท้าที่ไม่มีส่วนพยุงอุ้งเท้า หรือมีส้นรองเท้าแข็งเกินไป

 

อาการ
     ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดบริเวณส้นเท้า และจะปวดมากในช่วงเช้าโดยเฉพาะก้าวแรกที่ลงจากเตียง หรือเมื่อยืนลงน้ำหนัก แต่เมื่อเดินไประยะหรืออาการปวดมักจะดีขึ้น หากการอักเสบรุนแรงขึ้น อาการปวดอาจเป็นมากขึ้นหลังจากการยืนหรือเดินมาก ๆ ได้

 

การรักษา
- หากเกิดการอักเสบแบบฉับพลัน ให้ประคบเย็นบริเวณส้นเท้าหรือใต้ฝ่าเท้า 15 - 20 นาที ภายใน 1 - 2 วันแรก
- หลังจากไม่มีการอักเสบ ให้แช่น้ำอุ่น 20 - 30 นาที จะช่วยให้สบายขึ้นและอาการปวดน้อยลง
- ออกกำลังกาย หรือทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดและอักเสบ

 

การออกกำลังกายเพื่อรักษาและป้องกัน

ท่าที่ 1 กระดกข้อเท้า - ลง
ท่าที่ 1 กระดกข้อเท้า - ลง

     นั่งเหยียดขา กระดกข้อเท้าขึ้นมากที่สุด ค้างไว้ 5 วินาที แล้วปล่อยลง จากนั้นถีบปลายเท้าลงให้มากที่สด ค้างไว้ 5 วินาที ทำสลับกัน 10 ครั้ง

 

ท่าที่ 2 คล้องผ้าดึงเท้าเข้า
ท่าที่ 2 คล้องผ้าดึงเท้าเข้า

     ใช้ผ้าคล้องปลายเท้า ดึงให้ข้อเท้ากระดกขึ้นให้มากที่สุดค้างไว้ 10 วินาทีแล้วปล่อย ทำซ้ำ 10 ครั้ง

 

ท่าที่ 3 เหยียบคลึงฝ่าเท้า
ท่าที่ 3 เหยียบคลึงฝ่าเท้า

     ใช้ฝ่าเท้าเหยียบวัสดุกลม ๆ เช่น ลูกเทนนิส กะลา หรือขวด เหยียบแล้วกลิ้งไปมาบริเวณใต้ฝ่าเท้า 50 - 100 ครั้ง

 

ท่าที่ 4 จิกนิ้วขยุ้งผ้า
ท่าที่ 4 จิกนิ้วขยุ้งผ้า

     ใช้นิ้วเท้าหยิบสิ่งของจากพื้น เช่น ผ้า ดินสอ ก้อนหิน เล็ก ๆ แล้วปล่อยลง สลับกันหยิบขึ้น ทำซ้ำ 10 ครั้ง

 

ท่าที่ 5 ยืนโน้มตัวดันผนัง
ท่าที่ 5 ยืนโน้มตัวดันผนัง

     ยืนห่างจากผนัง 1 ช่วงแขน ก้าวขาที่จะยืดไว้ด้านหลังให้เข่าเหยียดตรง มือยันผนังไว้ ย่อเข่าที่อยู่ข้างหน้าลง โน้มตัวไปด้านหน้าจนรู้สึกตึงที่น่อง ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง

 

ท่าที่ 6 เขย่งเท้าขึ้น - ลง
ท่าที่ 6 เขย่งเท้าขึ้น - ลง

     ยืนเขย่งส้นเท้าให้สูงพ้นพื้น ค้างไว้ 5 วินาที แล้วปล่อยลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง

 

ท่าที่ 7 ยืนด้วยส้นเท้า
ท่าที่ 7 ยืนด้วยส้นเท้า

     ยืนเขย่งส้นเท้าขึ้นให้สูงพ้นพื้น ค้างไว้ 5 วินาที แล้วปล่อยลง สลับกับยืนด้วยส้นเท้า ทำซ้ำ 10 ครั้ง

 

     นอกจากการออกกำลังกายเอ็นร้อยหวายอย่างสม่ำเสมอแล้ว การเลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ รองเท้าที่เหมาะสม คือ มีส้นเล็กน้อย (สูงประมาณ 1 - 1.5 นิ้ว) เพื่อเป็นการถ่ายเทน้ำหนักตัวจากส้นเท้าไปยังฝ่าเท้าส่วนหน้า ซึ่งจะช่วยให้อาการปวดลดลง และการปรับรองเท้าให้เหมาะสมสามารถช่วยลดอาการปวดได้ โดยการใช้อุปกรณ์เสริมบริเวณอุ้งเท้าด้านในและบริเวณส้นเท้า ควรใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นที่เหมาะสมกับเท้า เพื่อกระจายและลดแรงกระแทกบริเวณส้นเท้า อีกทั้งยังเป็นการถ่ายน้ำหนักไปยังฝ่าเท้าส่วนหน้าได้

 

 

อ้างอิงจาก : กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อ่าน : บทความสุขภาพ เพิ่มเติม

 




- หรือ -